ทุกเหยียบย่างยุรยาตรพระบาทแม่
อุ่นปกแผ่ประชาไทยให้สุขสันต์
อีกพระหัตถ์ทรงยื่นมาดับจาบัลย์
ทั่วเขตขัณฑ์อบอุ่นใจในพระกรุณา
เอกองค์พระราชินีศรีแห่งชาติ
ประชาราษฎร์สำนึกคุณอุ่นเกศา
บำบัดทุกข์สุขบำรุง ธ มุ่งมา
ปวงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินชื่นยินดี
“สิริกิติ์”พิสิฐิวงศ์อนงค์นาถ
มิ่งขวัญราชพระภูมิพลดลสุรัติศรี
พระคู่บุญหนุนประภัสสร์ฉัตรบารมี
ครบขวบปีเฉลิมชนม์มงคลชัย
โสตถิสิริสวัสดิ์พิพัฒน์ผล
ขอพระชนม์สุขสวัสดิ์นิรัติศัย
พระชนม์ชีพยืนนานสำราญพระหฤทัย
พระเกียรติก้องเกริกไกรนิรันดร์เทอญ
วันแม่แห่งชาติในประเทศไทย
ปัจจุบันตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี
ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ โดยเริ่มใช้วันดังกล่าวเป็นวันแม่แห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2519 ก่อนหน้านั้นเคยใช้วันที่ 10 มีนาคม, 15 เมษายน, และ 4 ตุลาคม
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาว ส่งกลิ่นหอมได้ไกลและได้นาน
อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยตีความเปรียบกับความรักบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่เสื่อมคลาย
ความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย
งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข
แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง
หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493
แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป
ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน[1]
ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย
ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.
2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519
คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน
โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12
สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ
ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น